รายงานฉบับสมบูรณ์ ถอดบทเรียนความสำเร็จเพื่อขยายผล กรณีศึกษา : โรงเรียนประถมศึกษาและขยายโอกาสที่มีพัฒนาการในการจัดการอาหารและโภชนาการที่ดีเพื่อเสนอแนวทางในการขยายผล

รายงานฉบับสมบูรณ์ ถอดบทเรียนความสำเร็จเพื่อขยายผล กรณีศึกษา : โรงเรียนประถมศึกษาและขยายโอกาสที่มีพัฒนาการในการจัดการอาหารและโภชนาการที่ดีเพื่อเสนอแนวทางในการขยายผล

Download 83
Total Views 174
File Size 2.67 MB
File Type pdf
Download



ABSTRACT

การจัดการอาหารและโภชนาการที่ดีของโรงเรียนทำให้นักเรียนได้รับประทานอาหารที่ถูกต้องตามหลักโภชนาการและอยู่ในสภาพแวดล้อมทางอาหารที่เหมาะสมทำให้นักเรียนมีสุขภาพและพัฒนาการที่ดีรวมถึงได้เรียนรู้ทักษะชีวิตในการดูแลตนเอง ซึ่งเป็นรากฐานสำคัญในการดำเนินชีวิตและเป็นต้นทุนสำคัญในการในพัฒนาประเทศต่อไปในอนาคต การศึกษาเรื่อง “ถอดบทเรียนความสำเร็จเพื่อเสนอแนวทางในการขยายผล กรณีศึกษา: โรงเรียนประถมศึกษาและขยายโอกาสที่มีพัฒนาการในการจัดการอาหารและโภชนาการที่ดี” นี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อ (1) ศึกษาหาปัจจัยภายใน ปัจจัยภายนอก และกระบวนการที่มีผลต่อการพัฒนาโรงเรียนให้ประสบความสำเร็จในการจัดการอาหารและโภชนาการในโรงเรียน และ (2) ศึกษาทรัพยากรและสังเคราะห์แนวทางที่จำเป็นต่อการขยายผลการจัดการอาหารและโภชนาการสำหรับโรงเรียนในประเทศไทย

ผลการศึกษาในภาพรวม พบว่า โรงเรียนที่ศึกษามีปัจจัยภายในที่เป็นปัจจัยตั้งต้นสำคัญในการดำเนินงานการจัดการอาหารและโภชนาการของโรงเรียนให้เกิดขึ้นได้ ในขณะที่มีปัจจัยสนับสนุนจากภายนอก ทั้งจากระดับประเทศ ระดับพื้นที่ และระดับชุมชน เป็นปัจจัยเสริมที่ทำให้การทำงานเกิดขึ้นต่อเนื่องและประสบความสำเร็จได้ โดยสรุปปัจจัยดังกล่าวที่สำคัญได้ดังนี้

ปัจจัยความสำเร็จของโรงเรียน เริ่มต้นจากการเกิดจุดเปลี่ยนของโรงเรียน ซึ่งได้แก่การตระหนักถึงปัญหาของสภาพแวดล้อมที่ส่งผลต่อภาวะโภชนาการของนักเรียน และการตระหนักถึงปัญหาการจัดการอาหารและโภชนาการของโรงเรียน และโรงเรียนอาศัยปัจจัยกระบวนการภายในโรงเรียนในการดำเนินงานจนประสบความสำเร็จ ซึ่งได้แก่

1. การกำหนดนโยบายของโรงเรียนและการดำเนินการจัดการอาหารและโภชนาการของโรงเรียนให้สอดคล้องกับปัญหาด้านโภชนการหรือพฤติกรรมสุขภาพของนักเรียน โดยองค์ประกอบการดำเนินงานของโรงเรียนแบ่งออกเป็น (1) การจัดทำแผนปฏิบัติการและโครงการของโรงเรียน (2) การจัดการอาหารกลางวันและสภาพแวดล้อมทางอาหารในโรงเรียน และ (3) การจัดการศึกษาโภชนาการและการส่งเสริมสุภาพ
2. การบริหารทรัพยากรของโรงเรียน แบ่งออกเป็น (1) การบริหารทรัพยากรบุคคลของโรงเรียน (2) การบริหารจัดการความรู้ของโรงเรียน และ(3) การบริหารจัดการงบประมาณอาหารกลางวันของโรงเรียน ในทีนี้รวมทั้งทรัพยากรภายในและภายนอกที่โรงเรียนได้รับ โดยมีรายละเอียดดังนี้

ทรัพยากรภายนอกที่โรงเรียนได้รับ ได้แก่ (1) นโยบายระดับประเทศ เช่น งบประมาณอาหารกลางวันเพื่อนักเรียนชั้นประถมศึกษาในอัตรา 20 บาท / คน / วัน จำนวน 200 วันตามปีการศึกษา (2) นโยบายระดับกระทรวงหรือโครงการของหน่วยงานอิสระ เช่น โครงการโรงเรียนส่งเสริมสุขภาพ โครงการนักเรียนไทยสุขภาพดี โครงการเด็กไทยไม่กินหวาน และโครงการเด็กไทยแก้มใสฯ และ (3) นโยบายการสนับสนุนระดับจังหวัด หมายถึงการที่โรงเรียนได้รับอิทธิพลการมีวาระที่เกี่ยวข้อง ทำให้ได้ความร่วมมือภายในจังหวัดมากขึ้น เช่น จังหวัด สุรินทร์มีการทำข้อตกลงระดับจังหวัด เรื่อง การขับเคลื่อนการจัดการระบบอาหารในโรงเรียนและชุมชนในพื้นที่จังหวัดสุรินทร์ ทรัพยากรภายในโรงเรียน ได้แก่ (1) ทรัพยากรบุคคล (2) ทรัพยากรความรู้ และ (3) ทรัพยากรงบประมาณประมาณ

3. การสร้างความร่วมมือของโรงเรียนกับครอบครัว ชุมชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง (School Partnership) เนื่องโรงเรียนจำเป็นต้องได้รับความร่วมมือจากหน่วยงาน บุคคลภายนอก เพื่อร่วมกันสร้างสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสมให้แก่เด็กนักเรียน การขาดความตระหนักผู้ปกครอง ครอบครัวและสังคมเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดสภาพแวดล้อมทางอาหารไม่เหมาะสมต่อสุขภาพสำหรับเด็กและทำให้ไม่เกิดการส่งเสริมพฤติกรรมการรับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพ และโรงเรียนจำเป็นต้องอาศัยทรัพยากรหลายอย่างจากหลากหลายหน่วยงาน การขาดความร่วมมือ ไม่ให้ความสำคัญกับเป้าหมายส่งเสริมสุขภาพในเด็กวัยเรียนผ่านการจัดการอาหารและโภชนาการทำให้โรงเรียนไม่สามารถเชื่อมโยงกลไกสนับสนุนการดำเนินงานจนประสบความสำเร็จได้
4. การติดตามและประเมินผลของโรงเรียน โดยการจัดการอาหารและโภชนาการในโรงเรียน แบ่งการติดตามออกเป็น (1) การติดตามภาวะโภชนาการของนักเรียน เพื่อวิเคราะห์สถานการณ์และวางแผนการดำเนินงาน และ (2) การติดตามการดำเนินงานของโรงเรียน เพื่อติดตาม ตรวจสอลบกระบวนการทำงานของโรงเรียน เช่น การติดตามการใช้งบประมาณอาหารกลางวันของโรงเรียน

สรุปกระบวนการที่จำเป็นต่อการจัดการอาหารและโภชนการในโรงเรียนได้ว่า โรงเรียนที่มีบริบทที่แตกต่างกัน มีกระบวนการไปสู่ความสำเร็จที่แตกต่างกัน ตามข้อจำกัดของปัจจัยตั้งต้นที่โรงเรียนมีต่างกัน (จำนวนนักเรียนที่สัมพันธ์ต่องบประมาณและเงินอุดหนุน ขนาดพื้นที่ที่ส่งผลต่อการออกแบบกิจกรรม/โครงการของโรงเรียน และ ความสัมพันธ์ระหว่างโรงเรียนและชุมชน ที่ส่งผลต่อการได้รับความร่วมมือจากชุมชน ดังนั้นกระบวนการสนับสนุนโรงเรียนให้ประสบความสำเร็จในประเด็นดังกล่าวจึงแตกต่างกัน แม้โรงเรียนจะได้รับการสนับสนุนเชิงนโยบายอย่าง งบประมาณอาหารกลางวันในโรงเรียนเพื่อนักเรียนประถมศึกษา นโยบายลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้ หรือเข้าร่วมโครงการสนับสนุนสุขภาพหรือการจัดการอาหารและโภชนาการเหมือนกัน